วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556
รวมชุดประจำชาติ ในประเทศอาเซียน
1. ชุดประจำชาติของประเทศมาเลเซีย
สำหรับชุดประจำชาติมาเลเซียของผู้ชาย เรียกว่า บาจู มลายู (Baju Melayu) ประกอบด้วยเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือโพลีเอสเตอร์ที่มีส่วนผสมของผ้าฝ้าย ส่วนชุดของผู้หญิงเรียกว่า บาจูกุรุง (Baju Kurung) ประกอบด้วยเสื้อคลุมแขนยาว และกระโปรงยาว
2. ชุดประจำชาติของประเทศเวียดนาม
อ่าวหญ่าย (Ao dai) เป็นชุดประจำชาติของประเทศเวียดนามที่ประกอบไปด้วยชุดผ้าไหมที่พอดีตัวสวมทับกางเกงขายาวซึ่งเป็นชุดที่มักสวมใส่ในงานแต่งงานและพิธีการสำคัญของประเทศ มีลักษณะคล้ายชุดกี่เพ้าของจีน ในปัจจุบันเป็นชุดที่ได้รับความนิยมจากผู้หญิงเวียดนาม ส่วนผู้ชายเวียดนามจะสวมใส่ชุดอ่าวหญ่ายในพิธีแต่งงาน หรือพิธีศพ
3. ชุดประจำชาติของประเทศพม่า
ชุดประจำชาติของชาวพม่าเรียกว่า ลองยี (Longyi) เป็นผ้าโสร่งที่นุ่งทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในวาระพิเศษต่าง ๆ ผู้ชายจะใส่เสื้อเชิ้ตคอปกจีนแมนดารินและเสื้อคลุมไม่มีปก บางครั้งจะใส่ผ้าโพกศีรษะที่เรียกว่า กอง บอง (Guang Baung) ด้วย ส่วนผู้หญิงพม่าจะใส่เสื้อติดกระดุมหน้าเรียกว่า ยินซี (Yinzi) หรือเสื้อติดกระดุมข้างเรียกว่า ยินบอน (Yinbon) และใส่ผ้าคลุมไหล่ทับ
4. ชุดประจำชาติของประเทศบรูไน
ชุดประจำชาติของบรูไนคล้ายกับชุดประจำชาติของผู้ชายประเทศมาเลเซีย เรียกว่า บาจู มลายู (Baju Melayu) ส่วนชุดของผู้หญิงเรียกว่า บาจูกุรุง (Baju Kurung) แต่ผู้หญิงบรูไนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส โดยมากมักจะเป็นเสื้อผ้าที่คลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว ตัวเสื้อยาวถึงเข่า นุ่งกางเกงขายาวแล้วนุ่งโสร่ง เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมสังคมแบบอนุรักษ์นิยม เพราะบรูไนเป็นประเทศมุสสิม จึงต้องแต่งกายมิดชิดและสุภาพเรียบร้อย
5. ชุดประจำชาติของประเทศลาว
ผู้หญิงลาวนุ่งผ้าซิ่น และใส่เสื้อแขนยาวทรงกระบอก สำหรับผู้ชายมักแต่งกายแบบสากล หรือนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อชั้นนอกกระดุมเจ็ดเม็ด คล้ายเสื้อพระราชทานของไทย
6. ชุดประจำชาติของประเทศอินโดนีเซีย
เกบาย่า (Kebaya) เป็นชุดประจำชาติของประเทศอินโดนีเซียสำหรับผู้หญิง มีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาว ผ่าหน้า กลัดกระดุม ตัวเสื้อจะมีสีสันสดใส ปักฉลุเป็นลายลูกไม้ ส่วนผ้าถุงที่ใช้จะเป็นผ้าถุงแบบบาติก ส่วนการแต่งกายของผู้ชายมักจะสวมใส่เสื้อแบบบาติกและนุ่งกางเกงขายาวหรือเตลุก เบสคาพ (Teluk Beskap) ซึ่งเป็นการแต่งกายแบบผสมผสานระหว่างเสื้อคลุมสั้นแบบชวาและโสร่ง และนุ่งโสร่งเมื่ออยู่บ้านหรือประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิด
7. ชุดประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์
ผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อที่เรียกว่า บารอง ตากาล็อก (barong Tagalog) ซึ่งตัดเย็บด้วยผ้าใยสัปปะรด มีบ่า คอตั้ง แขนยาว ที่ปลายแขนเสื้อที่ข้อมือจะปักลวดลาย ส่วนผู้หญิงนุ่งกระโปรงยาว ใส่เสื้อสีครีมแขนสั้นจับจีบยกตั้งขึ้นเหนือไหล่คล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า บาลินตาวัก (balintawak)
8. ชุดประจำชาติของประเทศไทย
สำหรับชุดประจำชาติอย่างเป็นทางการของไทย รู้จักกันในนามว่า "ชุดไทยพระราชนิยม" โดยชุดประจำชาติสำหรับสุภาพบุรุษ จะเรียกว่า "เสื้อพระราชทาน"
สำหรับสุภาพสตรีจะเป็นชุดไทยที่ประกอบด้วยสไบเฉียง ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาด ส่วนท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บให้ติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือ จะมีผ้าสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าการเย็บและรูปทรงของผู้ที่สวม ใช้เครื่องประดับได้งดงามสมโอกาสในเวลาค่ำคืน
โดยชุดไทยพระราชนิยม แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้
1. ชุดไทยเรือนต้น
2. ชุดไทยจิตรลดา
3. ชุดไทยอมรินทร์
4. ชุดไทยบรมพิมาน
5. ชุดไทยจักรี
6. ชุดไทยจักรพรรดิ
7. ชุดไทยดุสิต
8. ชุดไทยศิวาลัย
9. ชุดประจำชาติของประเทศกัมพูชา
ชุดประจำชาติของกัมพูชาคือ ซัมปอต (Sampot) หรือผ้านุ่งกัมพูชา ทอด้วยมือ มีทั้งแบบหลวมและแบบพอดี คาดทับเสื้อบริเวณเอว ผ้าที่ใช้มักทำจากไหมหรือฝ้าย หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ซัมปอตสำหรับผู้หญิงมีความคล้ายคลึงกับผ้านุ่งของประเทศลาวและไทย ทั้งนี้ ซัมปอดมีหลายแบบซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนชั้นทางสังคมของชาวกัมพูชา ถ้าใช้ในชีวิตประจำวันจะใช้วัสดุราคาไม่สูง ซึ่งจะส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น นิยมทำลวดลายตามขวาง ถ้าเป็นชนิดหรูหราจะทอด้ายเงินและด้ายทอง
10. ชุดประจำชาติประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์ไม่มีชุดประจำชาติเป็นของตนเอง เนื่องจากประเทศสิงคโปร์แบ่งออกเป็น 4 เชื้อชาติหลัก ๆ ได้แก่ จีน มาเลย์ อินเดีย และชาวยุโรป ซึ่งแต่ละเชื้อชาติก็มีชุดประจำชาติเป็นของตนเอง เช่น ผู้หญิงมลายูในสิงคโปร์ จะใส่ชุดเกบาย่า (Kebaya) ตัวเสื้อจะมีสีสันสดใส ปักฉลุเป็นลายลูกไม้ หากเป็นชาวจีน ก็จะสวมเสื้อแขนยาว คอจีน เสื้อผ้าหน้าซ่อนกระดุม สวมกางเกงขายาว โดยเสื้อจะใช้ผ้าสีเรียบหรือผ้าแพรจีนก็ได้
CR.http://hilight.kapook.com/view/73561
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เข้ามาเยี่ยมชมแล้วครับ ทำต่อไปให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานและผู้เรียนนะครับ
ตอบลบ